“ขงจื่อ” เป็นปรัชญาจีนซึ่งนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่ชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลกน้อมนำมาเป็น “ปรัชญาในการดำเนินชีวิต”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิวิชญ์เลี้ยงอิสสระ คณบดีคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวยกย่องถึงทฤษฎีปรัชญาจีนขงจื่อที่ให้ความสำคัญต่อความเมตตา กรุณา ความกตัญญู จารีตประเพณี ความยุติธรรมและความซื่อสัตย์ว่า เป็นปรัชญาแห่งการเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ที่ทุกคนควรศึกษา
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติซึ่งว่าด้วย SDG4 เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) SDG10 เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ(Reduced Inequalities) และปณิธานสู่การเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ของมหาวิทยาลัยมหิดล
จากที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง (BLCU – Beijing Language and Culture University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยจีนแห่งเดียวที่ขึ้นชื่อได้ว่า เป็น”มหาวิทยาลัยภาษา” และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เริ่มต้นกระบวนการจัดการเรียนการสอนภาษาและส่งเสริมวัฒนธรรมจีนในระดับนานาชาติ ทั้งที่เป็นนักศึกษาต่างชาติในสาธารณรัฐประชาชนจีนและในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
จึงได้มีการจัดตั้ง “สถาบันขงจื่อ” ขึ้นณ อาคารสิริวิทยา คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งในพิธีเปิดป้ายสถาบันฯ 26 มิถุนายน2566 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก นายอู๋ จื้ออู่อัครราชทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย “สนั่น อังอุบลกุล” ร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยมองว่าประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของชาวจีนโพ้นทะเล ดังที่มีประชากรชาวจีนโพ้นทะเลเป็นจำนวนมากอาศัยอยู่ในย่านการค้าสำคัญเช่นที่ “เยาวราช”
ซึ่งอาจนำไปสู่หัวข้อการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ที่ว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีด้านอาหาร การแต่งกายความเชื่อ การเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวันสำคัญต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นสืบไป
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมีการเรียนการสอนวิชาภาษาจีนทั้งที่เป็นวิชาเอกในระดับปริญญาตรี(หลักสูตรนานาชาติ) วิชาโท และวิชาเลือกเสรี สำหรับนักศึกษาสาขาวิชาอื่นที่สนใจภาษาและวัฒนธรรมจีน สถาบันขงจื่อจะเป็นแหล่งข้อมูลทางภาษาและวัฒนธรรมจีนที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพทางภาษาและความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนยิ่งขึ้น
และแม้ “สถาบันขงจื่อ” จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการเรียนการสอนภาษาและส่งเสริมวัฒนธรรมจีน แต่การเริ่มต้นความร่วมมือ ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล และ BLCU จะทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ต่อไป เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรเพื่อการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ “ภาษาและวัฒนธรรมไทย” ได้เผยแพร่กลับไปยังชาวจีนให้เกิดแรงดึงดูดใจมาเยือนประเทศไทยอีกในวันข้างหน้าได้เช่นกัน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th